ก่อนจะทำการร้อยไหม เราควรจะต้องทราบก่อนว่าร้อยไหมมีกี่แบบ ไหมแต่ละชนิดนั้นต่างกันอย่างไร แบบไหนที่เหมาะกับเรา แบบไหนที่ไม่เหมาะกับเรา แบบไหนที่เราร้อยแล้วจะได้ผลลัพธ์ตามที่ใจต้องการมากที่สุด
ร้อยไหมมีกี่แบบ ?
การร้อยไหมเป็นเทคนิคยกกระชับที่จะช่วยแก้ปัญหาผิวหย่อนคล้อยให้กระชับขึ้น กรอบหน้าดูชัด ใบหน้าดูเรียวขึ้น และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิวโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด เห็นผลทันทีหลังทำ
ในปัจจุบันการร้อยไหมจะแบ่งเป็น 2 แบบ หลักๆ คือไหมละลาย และไหมไม่ละลาย
- ไหมละลาย สามารถสลายได้เองตามกลไกธรรมชาติ ไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้าง ในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นชื่อกันมาบ้างแล้ว เช่น ไหมก้างปลา ไหมมิ้นท์ ไหมโครงตาข่าย
- ไหมไม่ละลาย เคยเป็นที่นิยมในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากไหมชนิดนี้ไม่สามารถผ่านเครื่อง CT Scan หรือ MRI ได้ และยังไม่สามารถทนความร้อนสูง ซึ่งอาจทำให้รูปทรงบิดเบี้ยวได้ ทั้งยังไม่สามารถสลายได้เองตามกลไกของร่างกาย เช่น ไหมพลาสติก ไหมทองคำ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ร้อยไหมเจ็บไหม
ไหมทำมาจากวัสดุอะไร ?
ไหมละลาย
- PDO (Polydioxanone) เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมใช้มากที่สุด มีความยืดหยุ่นสูง มีความแข็งแรง ไม่มีสารก่อให้เกิดอาการแพ้ และเป็นไหมที่ใช้ในทางการแพทย์ ในการผ่าตัดเย็บเส้นเลือดหัวใจ PDO (Polydioxanone)
- PLLA (Polylactic acid) ตัววัสดุมีความแข็งแรง คงทน อยู่ได้นาน แต่มีปัญหาในเรื่องของการแตกหัก และเปราะง่าย ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น
- PCL (Polycaprolactone) เป็นวัสดุสีใส เหนียว มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงตามการขยับของใบหน้า ทำให้ลดปัญหาการขาดของเส้นไหมได้ดี อยู่ได้ยาวนาน
ไหมไม่ละลาย
วัสดุทำมาจากโลหะ พลาสติก หรือทองคำ ไม่สามารถสลายได้เองตามกลไกของร่างกาย
- ไหมพลาสติกประเภทพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) ไหมชนิดนี้ทางการแพทย์มีไว้ใช้เย็บแผล ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ เช่น เกิดการอักเสบบริเวณปมไหม เมื่อใช้ไปสักระยะไหมจะหัก เปราะ ทำให้หน้ากลับมาหย่อนคล้อย
- ไหมทองคำ เป็นไหมที่นำทองคำบริสุทธิ์มาเป็นองค์ประกอบ ปัจจุบันไม่นิยมนำมาร้อยไหมยกกระชับผิวหน้า เพราะไม่ทนต่อความร้อน ทำให้รูปหน้าเกิดการผิดรูปและเกิดการแพ้ได้ และคนไข้ที่ร้อยไหมชนิดนี้ไปไม่สามารถทำ CT Scan หรือ MRI ได้
ลักษณะของเส้นไหม
ลักษณะของเส้นไหมที่ใช้ในการร้อยไหมนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ดังนั้นการเลือกใช้ไหมก็จะไม่เหมือนกัน เนื่องด้วยไหมแต่ละแบบนั้นมีลักษณะและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป
โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ไหมแบบเรียบ (Mono thread)
ลักษณะของไหมแบบเรียบสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ไหมแบบเรียบตรง และไหมแบบเกลียว
-
ไหมแบบเรียบตรง
เป็นไหมที่ไม่มีเงี่ยง จะช่วยฟื้นฟูผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว ทำให้ผิวดูแน่นขึ้น และยังช่วยในเรื่องของหลุมสิว รูขุมขนกว้าง
เนื่องด้วยไหมเรียบจะไม่มีเงี่ยงเกาะกับผิว จึงไม่ได้ช่วยเรื่องการยกกระชับส่วนที่หย่อนคล้อยมากนัก
-
ไหมแบบเกลียว (ไหม Screw)
เป็นไหมชนิดเดียวกับไหมแบบเรียบ แต่ลักษณะของไหมจะพันเป็นเกลียวรอบเข็ม ช่วยในเรื่องของการกระตุ้นคอลลาเจน และช่วยในการเพิ่มวอลลุ่มของผิวให้ดูอิ่มฟูได้ ซึ่งแตกต่างจากไหมแบบเรียบ
2. ไหมแบบเงี่ยง (Barb thread)
เป็นไหมที่มีเงี่ยงออกจากเส้นไหมไว้ยึดเกาะกับผิวหนัง เส้นใหญ่ ลักษณะเงี่ยงอาจมีเงี่ยง 1 หรือ 2 ทิศทาง เห็นผลได้ดีเรื่องการยกกระชับ
ข้อดีของไหมเงี่ยง คือ ช่วยยกกระชับผิวที่หย่อนคล้อย กระเปาะแก้ม ปัญหาร่องน้ำหมากและร่องแก้ม เงี่ยงไหมจะสามารถล็อกผิวได้ดีกว่าไหมเรียบ จึงทำให้ใช้จำนวนเส้นไหมในการร้อยน้อยกว่าไหมแบบเรียบ
โดยลักษณะของเงี่ยงไหมสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ เงี่ยงแบบบาก และเงี่ยงแบบหล่อ
-
เงี่ยงแบบบาก
ลักษณะของเงี่ยงเกิดจากการผลิตโดยนำเลเซอร์มาบากที่ผิวด้านนอกของเส้นไหม ให้เป็นลักษณะซี่ๆ ออกมาจากแนวแกนกลางของเส้นไหม ซึ่งการเรียงตัวของเงี่ยงไหมมีได้หลายแบบ ดังนี้
– Uni-direction เงี่ยงมีการเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน ใน 1 แนว
– Bi-direction เงี่ยงมีการเรียงตัว 2ทิศทางแบบสวนทางกัน ใน 1 แนว
– 3D cog เงี่ยงมีการเรียงตัวแบบสามมิติรอบแนวเส้นไหม 360 องศา
-
เงี่ยงแบบหล่อ
ลักษณะของเงี่ยงถูกหล่อขึ้นมาพร้อมกับตัวเส้นไหมจากแม่พิมพ์ คุณสมบัติพิเศษคือเงี่ยงมีความแข็งแรง เห็นเงี่ยงชัดเจน เกาะกับผิวได้แน่นเมื่อเทียบกับเงี่ยงบาก ซึ่งการเรียงตัวของเงี่ยงไหมมีได้หลายแบบดังนี้
– Carving cog ลักษณะเงี่ยงเหมือนโคนสามเหลี่ยมทึบคล้ายร่ม เรียงตัวไปตามแนวเส้นไหม
– Molding cog ลักษณะเงี่ยงจะคล้ายกับฟันเลื่อย หรือ ฟันปลาฉลาม
– 3D Molding cog ลักษณะเงี่ยงเป็นหนามขนาดใหญ่ออกมาจากแกนกลางเส้นไหมและวนรอบทิศทาง 360 องศา คล้ายกับหนามกุหลาบ
ความแตกต่างระหว่างเงี่ยงแบบบากและเงี่ยงแบบหล่อ
เนื่องจากเงี่ยงแบบบาก ตัวเงี่ยงเกิดจากการบากออกจากแกนกลางเส้นไหม ทำให้ก้านของเงี่ยง ไม่แข็งแรงมาก สามารถเคลื่อนตัวไปมาได้ค่อนข้างง่าย ทำให้แรงยึดเกาะกับชั้นผิวไม่มีความแข็งแรงเท่ากับเงี่ยงแบบหล่อ
3. ไหมกรวย
เงี่ยงเป็นแบบกรวย 3 มิติ มีลักษณะเหมือนกรวยไอศกรีม ขนาดของไหมกรวยกว้างกว่าไหมแบบเงี่ยงทำให้เกาะกับผิวได้ดีกว่า กระตุ้นสร้างคอลลาเจนได้นานกว่า และตัวกรวยไม่บาดผิว ช่วยลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื้อจากการที่ไหมขูดกับผิวได้ดีกว่าไหมแบบเงี่ยง
แต่มีข้อเสียคือไหมชนิดนี้ค่อนข้างที่จะมีขนาดใหญ่ทำให้เมื่อสอดเข้าไปใต้ชั้นผิวจะต้องใช้เทคนิคสูงจึงต้องร้อยกับแพทย์ที่มีประสบการณ์เท่านั้น
4. ไหมโครงตาข่าย
เงี่ยงไหมโครงตาข่ายมีลักษณะที่พิเศษกว่าไหมแบบอื่น คือ มีเงี่ยงไหม 2 ชั้น โดยชั้นด้านใน (Barb) เป็นเงี่ยงไหมที่หล่อขึ้นมาแบบ 3 มิติ รอบตัวไหม ชั้นด้านนอก (Mesh) เป็นเส้นใยโครงตาข่ายล้อมรอบตัวไหม 360 องศาตลอดทั้งเส้น
ข้อดีของเงี่ยงไหม 2 ชั้น คือ ทำให้มีเงี่ยงที่แข็งแรง ยกกระชับผิวหย่อนคล้อยได้ดีมาก เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน
และเนื่องจากมีเส้นใยโครงตาข่ายล้อมรอบอีกชั้น ส่งผลให้เนื้อเยื้อใต้ชั้นผิวเกาะไหมได้แน่นขึ้น
ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ผ่านรูโครงตาข่าย ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนทำให้ผิวฟู เต่งตึง เรียกได้ว่าทำหัตถการ 1 อย่าง แต่ได้ผลลัพธ์ถึง 2-3 อย่าง
ลักษณะของปลายเข็ม
เข็มที่ใช้ในการร้อยไหมแบ่งเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ เข็มปลายแหลมและเข็มปลายทู่ ซึ่งสามารถใช้ในการร้อยไหมได้ดีทั้งคู่ แต่เข็มทั้งสองแบบมีคุณสมบัติที่ต่างกันอย่างชัดเจน
การเลือกใช้จะเลือกตามสภาพผิวของคนไข้เป็นหลักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการยกกระชับที่ดี
เข็มปลายแหลม
- ลักษณะปลายเข็มแหลม ข้อดีคือขณะร้อยไหมจะผ่านผิวเข้าไปได้ง่าย โดยเฉพาะในคนไข้ที่ผิวหนา มีหลุมสิว รูขุมขนกว้าง มีพังผืดใต้ผิวเยอะจากการทำศัลยกรรม
- มีโอกาสเกิดรอยเขียวช้ำ หรือ บวมได้ง่าย
- เงี่ยงไหมจะเกาะผิวได้ไม่แน่นเท่ากับไหมปลายทู่ เนื่องจากตอนใส่ไหมเข้าไปเป็นเข็มแหลม จะเปิดช่องใต้ผิวได้กว้างและโล่งกว่า ทำให้ระหว่างเงี่ยงไหมกับผิวมีช่องว่างเกิดขึ้นการเกาะกับผิวจึงได้น้อยกว่า
เข็มปลายแหลม
เข็มปลายทู่
- ลักษณะเป็นเข็มทู่มีสองแบบ คือ ทู่แบบตัด (L-type) และ ทู่แบบมน (W-type)
- ปลายทู่แบบตัด (L-type) ลักษณะปลายเข็มจะมีความตัดตรง ไม่มีความคมเท่าปลายเข็มแหลม แต่จะมีความคมกว่าเข็มปลายทู่แบบมน
- ปลายทู่แบบมน (W-type) ลักษณะปลายเข็มจะมีความทู่มน ไม่บาดผิว
- สามารถลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ รวมถึงลดโอกาสการบาดเจ็บของเส้นเลือดและเส้นประสาท
- ลดอาการบวมเขียวช้ำได้ดี เนื่องจากลดความเสี่ยงที่จะไปตัดโดนเส้นเลือด ทำให้ระยะเวลาการพักฟื้นหลังร้อยไม่นาน
- เนื่องจากเป็นเข็มปลายทู่จะผ่านเข้าไปใต้ผิวได้ยาก ทำให้ช่องแนวไหมไม่กว้าง เงี่ยงไหมจึงเกาะกับผิวได้แน่นในหลายตำแหน่ง และ ลดโอกาสเกิดริ้วไหมได้
เข็มปลายทู่แบบตัด (L-type)
เข็มปลายทู่แบบมน (W-type)
แบบไหนดีที่สุด
หมอแนะนำให้เลือกจากวัสดุที่เป็นไหมละลายเป็นอย่างแรก เพื่อความปลอดภัยแล้วไม่ทิ้งสารตกค้างในร่างกาย
ลักษณะปลายเข็มไหม หากเป็นไหมปลายทู่จะลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อใต้ผิว และลดการตัดผ่านเส้นเลือด เส้นประสาทได้ดีกว่าเข็มปลายแหลม แต่ถ้าใต้ชั้นผิวคนไข้มีพังผืดเยอะจากการผ่าตัด หรือหลุมสิว การใช้ไหมเข็มปลายแหลมจะผ่านเข้าไปใต้ผิวได้ง่ายกว่า
ลักษณะของไหม ควรมีเงี่ยงที่แข็งแรงเพื่อให้มีแรงในการยึดเกาะ และพยุงผิวได้ดี รวมไปถึงควรมีคุณสมบัติในการกระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิวได้ดี เพื่อให้ผลลัพธ์ของการยกกระชับคงสภาพได้ยาวนาน
ไหมเงี่ยงสำหรับยกกระชับที่พัชชาคลินิก จะมีอยู่กัน 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ไหมก้างปลา ไหมทอร์นาโด ไหม Mint และไหมโครงตาข่าย และไหมเรียบที่ใช้ในการกระตุ้นคอลลาเจน โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการร้อยไหม
นอกจากนี้การประเมินรูปหน้าจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเป็นสิ่งสำคัญมาก การร้อยไหมในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการ ปัญหาผิว รวมถึงสภาพผิวของแต่ละบุคคล
อย่างเช่น ถ้าเราผิวบางเหมาะกับการร้อยไหมด้วยเข็มปลายทู่แต่กลับร้อยไหมที่ใช้เข็มปลายแหลมก็อาจเกิดอาการบวมช้ำได้ง่าย หรือในคนที่ต้องการยกกระชับผิวและต้องการฟื้นฟูผิว ก็สามารถร้อยไหมเรียบพร้อมไหมเงี่ยงได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมค่ะ
สรุป
ผลลัพธ์ที่ได้จากการร้อยไหมจะออกมาสวยตรงความต้องการหรือไม่นั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความชำนาญของแพทย์เป็นหลัก การประเมินรูปหน้า และการวางตำแหน่งไหม เทคนิคที่ทำให้เกิดรอยย่นหลังทำได้น้อย รวมถึงการเลือกไหมให้เหมาะกับสภาพผิวก็เป็นสิ่งสำคัญ
โดยในปัจจุบันมีไหมออกมาให้เลือกหลากหลายประเภท มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนทำแนะนำให้ศึกษาข้อมูล ปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ให้คำแนะนำก่อนตัดสินใจ