ไม่ใช่ทุกคนที่ฉีดฟิลเลอร์ไปแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่สวยตามที่ต้องการ บางคนฉีดไปแล้วฟิลเลอร์เป็นก้อนดูไม่เป็นธรรมชาติ มีทั้งที่สามารถแก้ไขให้เป็นปกติได้ และแก้ไขไม่ได้ ซึ่งส่วนมากมักเกิดกับคนไข้ที่ฉีดกับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ได้ฉีดในสถานพยาบาลที่ถูกต้อง และใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นก่อนฉีดฟิลเลอร์หมอแนะนำให้ศึกษาให้ดีก่อนนะคะ
ฟิลเลอร์เป็นก้อนเกิดจากอะไร ?
ปัญหาที่คนไข้บางท่านเจอ “ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน” ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับตัวฟิลเลอร์ที่ฉีด และเทคนิคการฉีดของแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยหมอได้รวบรวมมาให้แล้วค่ะว่าสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง หมอขอแบ่งออกเป็น 2หัวข้อหลัก คือ ภาวะการเกิดก้อนที่ไม่อักเสบ และ ภาวะการเกิดก้อนที่มีการอักเสบ

1. ภาวะการเกิดก้อนที่ไม่อักเสบ
ลักษณะก้อนมักเป็นก้อนเดี่ยวๆตรงบริเวณที่ฉีด คลำขอบเขตของก้อนได้ชัดเจน ไม่เจ็บ สีผิวปกติไม่แดง และก้อนไม่ขยายขนาดมากขึ้น สาเหตุของภาวะนี้เกิดจาก 3 สาเหตุดังนี้
ฉีดสารเติมเต็มผิดวิธี ฉีดมากเกินไป หรือ ตื้นไป
มักเกิดจากเทคนิคของแพทย์ และ แพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ปกติแพทย์ที่ทำการฉีดฟิลเลอร์ควรมีความรู้เกี่ยวกับสรีระบนใบหน้าเกี่ยวกับชั้นผิว ไขมัน กล้ามเนื้อ และรูปกระดูกเป็นอย่างดี เพื่อทราบปัญหาและกำหนดปริมาณฟิลเลอร์ที่เหมาะสม ส่วนแพทย์ที่ไม่มีความชำนาญ หมอปลอม หรือหมอกระเป๋า อาจฉีดฟิลเลอร์มากเกินไปจนเกิดเป็นก้อนชัดเจนได้ หรือ เติมฟิลเลอร์ผิดชั้นทำให้เป็นก้อนได้
หมอขอยกตัวอย่างบริเวณที่พบบ่อยคือบริเวณใต้ตา ตามปกติสรีระบริเวณใต้ตามีหลายชั้นผิว ดังนั้นการเติมฟิลเลอร์เพื่อแก้ปัญหาต้องแก้ไขในหลายชั้นผิว ไม่เพียงแค่ถมฟิลเลอรืเข้าไปบริเวณไขมันใต้ตาชั้นตื้น หรือ ใต้ผิวหนังอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะเกิดฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อนได้
การเคลื่อนตัวของฟิลเลอร์ไปยังตำแหน่งอื่นจากกล้ามเนื้อแสดงสีหน้า
หากแพทย์ฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้น และอยู่ในบริเวณที่มีการขยับของใบหน้าเยอะ สามารถทำให้ฟิลเลอร์เกิดการเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งอื่นที่ไม่ต้องการได้ โดยตำแหน่งที่พบปัญหานี้ได้บ่อยได้แก่ รอบปาก ร่องแก้ม ขมับ เป็นต้น
ฟิลเลอร์ที่เลือกใช้ไม่ได้มาตรฐานไม่ใช่สาร Hyaluronic acid
ส่วนมากฟิลเลอร์จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อเจลกลืนไปกับชั้นผิวของคนไข้หลังทำ ทำให้จับตัวเป็นก้อนแข็งเมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อเป็นฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้อย. หรือฟิลเลอร์ปลอม มักพบปัญหาฟิลเลอร์เป็นก้อนแข็ง ไม่สลายได้เอง บริเวณที่ฉีดและอาจไหลไปอยู่ในบริเวณอื่น
2. ภาวะการเกิดก้อนที่มีการอักเสบ
ลักษณะอาการที่พบคือ อาจมาด้วยก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อน แดง กดเจ็บ บวม และอาจมีหนองร่วมด้วย และสามารถพบได้หลังฉีด 48 ชั่วโมงแรก หรือ หลังฉีดเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี โดยสาเหตุที่พบเกิดจาก
การติดเชื้อ
มักเกิดจากเทคนิคการฉีดที่ไม่ปราศจากเชื้อ หรือฟิลเลอร์ปลอม-ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค มักมีก้อนบวม แดง ปวดกดเจ็บ หรืออาจมีหนองร่วมด้วย
ภาวะภูมิไวเกินต่อสารเติมเต็ม หรือ อาการแพ้
เนื่องจากสารเติมเต็มจัดเป็นสิ่งแปลกปลอมนึงของร่างกาย ร่างกายจึงมีโอกาสที่จะกระตุ้นภูมิคุมกันของร่างกายทำให้ฟิลเลอร์เกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้น อาจพบได้แบบเฉียบพลัน(ภายใน 48ชั่วโมงหลังฉีด) หรือแบบล่าช้า (สัปดาห์ถึงปี) อาการที่พบมักเป็นก้อน บวม นูน แดง
ฟิลเลอร์เป็นก้อนอันตรายไหม ?
ปัญหานี้ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายในบางกรณี ขึ้นอยู่กับว่าความบวมเป็นก้อนนั้นเป็นลักษณะใด หมอขอแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ฟิลเลอร์เป็นก้อนที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
ลักษณะนี้ไม่เป็นอันตราย เพียงแค่จะทำให้ผิวบริเวณนั้นดูไม่เรียบเนียน และไม่สวยงามมากกว่า
อาการที่แสดง
- หลังฉีดฟิลเลอร์ไป 4 สัปดาห์ยังคงมีอาการอยู่
- ไม่มีอาการอื่นที่แสดงถึงการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น เจ็บ แดง ร้อน มีหนอง
- มีเพียงแต่ผิวที่ไม่เรียบเนียนเป็นก้อนในขณะที่แสดงสีหน้า หรือไม่แสดงสีหน้า

ภาพจาก: www.thesun.co.uk
2. ฟิลเลอร์เป็นก้อนที่เกิดจากการอักเสบ และติดเชื้อ
ลักษณะนี้ถือว่าเป็นอันตราย หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการรักษา ถ้าปล่อยไว้การติดเชื้อจะยิ่งลามมากขึ้นถึงขั้นเกิดเป็นแผลเนื้อตายได้
อาการที่แสดง
- มีอาการอื่นที่แสดงถึงการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น เจ็บ แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดแล้วฟิลเลอร์เป็นก้อน
- มีอาการปวดบวมขึ้นเรื่อยๆ หลังฉีดฟิลเลอร์
- ผิวหนังบริเวณฟิลเลอร์เป็นก้อน มีลักษณะเป็นหัวหนอง หรือฝี
ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนจะเกิดขึ้นกับทุกคนไหม ?

ปกติหลังฉีดฟิลเลอร์ชนิด Hyaluronic acid เข้าไป จะจับเจอเนื้อฟิลเลอร์เป็นก้อนใต้ผิวได้ในช่วง 1-2 เดือนแรก และจะกลืนไปกับผิวเองขึ้นอยู่กับเนื้อเจลฟิลเลอร์ที่ใช้ ส่วนอาการฟิลเลอร์เป็นก้อนบวมถาวรไม่ควรเกิดขึ้นค่ะ
บริเวณที่พบปัญหาฟิลเลอร์เป็นก้อนบ่อย แม้ระยะเวลาจะผ่านไปแล้ว 1-2 เดือน ได้แก่ ใต้ตา แก้มตอบ หน้าผาก คาง และปาก เป็นต้น ส่วนมากมักเกิดจากการฉีดกับแพทย์ที่ไม่ชำนาญการ หรือเลือกเนื้อฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมกับบริเวณที่ฉีดค่ะ
ยี่ห้อของฟิลเลอร์มีผลหรือไม่ ?
ยี่ห้อของฟิลเลอร์ไม่มีผลค่ะ แต่ควรเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่เป็นสาร Hyaluronic acid ที่ผ่านอย.ไทย เนื่องจากสามารถสลายได้เอง ปลอดภัย และกลืนกับผิวได้ดี ไม่เป็นก้อนแข็งเหมือนฟิลเลอร์ที่เป็นชนิดถาวรอย่างซิลิโคนเหลว
นอกจากนั้นควรเลือกเนื้อฟิลเลอร์ที่เหมาะกับบริเวณที่ต้องการรักษา เนื่องจากฟิลเลอร์มีหลากหลายยี่ห้อและรุ่นให้เลือกใช้ค่ะ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อได้ที่ ฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดี

หากฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนต้องทำอย่างไร ?
เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ค่ะ หมอขอรวมเป็น 4 วิธี ดังนี้

1.เติมฟิลเลอร์ใหม่เข้าไปแก้ไข
หลายคนคงสงสัยว่ามันจะไม่ทำให้เป็นก้อนมากกว่าเดิมหรอ ซึ่งวิธีนี้สามารถแก้ไขได้ในคนไข้บางเคส
- คนไข้ที่ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตามาแล้วเป็นก้อน แต่มีปัญหาหน้าแก้มแบน หย่อนและไม่ได้แก้ไขก่อนการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ซึ่งแพทย์ต้องเป็นผู้พิจารณาเป็นเคสๆ ไปว่าสามารถเติมเข้าไปใหม่ได้เลยหรือต้องสลายฟิลเลอร์เดิมออกไปก่อน
- คนไข้ที่เติมฟิลเลอร์หน้าผากมาแล้วเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบเนียน สามารถเติมฟิลเลอร์เข้าไปตรงบริเวณที่บุ๋มได้ เพื่อให้เรียบเนียนเสมอขึ้น แต่ต้องพิจารณาเป็นเคสไป

2.ฉีดสลาย
ในกรณีนี้จะใช้สาร Hyalase ในการฉีดสลายฟิลเลอร์ ฟิลเลอร์ที่สามารถสลายได้ด้วยวิธีนี้มีเพียงชนิดเดียวคือ ฟิลเลอร์ Hyaluronic acid ประมาณ 3-7 วัน หลังฉีดสลาย ฟิลเลอร์ที่เป็นก้อนจะสลายไปจนหมด ในบางรายฉีดมาหลายซีซี หรือเป็นฟิลเลอร์เนื้อแข็งทำให้สลายยากอาจไม่หมดในครั้งแรก สามารถนัดมาสลายซ้ำจนหมดได้
3.เจาะออก
สามารถทำได้ในเคสที่ฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อน แล้วก้อนนิ่ม ไม่แข็งมาก และไม่มีพังผืดมาเกาะ โดยจะทำในผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์พวก Polyamine (Aqualift) หรือ Hydrofilic gel เมื่อเจาะออกแล้วอาจจะไม่สามารถเอาออกได้หมด อาจจะได้เพียงแค่ประมาณ 50-70% เท่านั้น
4.ผ่าตัดและขูดเอาฟิลเลอร์ออก
จะทำในกรณีที่คนไข้ฉีดฟิลเลอร์ชนิดที่ไม่สามารถสลายได้ เช่น ซิลิโคนเหลว มาเป็นระยะเวลานาน ลักษณะฟิลเลอร์เป็นก้อนแข็ง มักมีพังผืดมายึดรอบๆ เยอะ แต่ถึงอย่างไรการผ่าตัดส่วนมากก็ไม่สามารถเอาฟิลเลอร์ออกไปได้หมด 100% แนะนำให้ปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนค่ะ
สำหรับในเคสที่เป็นก้อนแล้วมีการติดเชื้อร่วมด้วย แพทย์ควรพิจารณายาฆ่าเชื้อให้เร็วที่สุดเพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจายและพิจารณาสลายออก
สรุป
ฉีดฟิลเลอร์ไปแล้วเป็นก้อน สามารถเกิดได้ 2 ลักษณะ คือจากไม่มีการอักเสบ และมีการอักเสบ ถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วยแนะนำรีบพบแพทย์ที่ทำการรักษา ส่วนกรณีที่ไม่ใช่การอักเสบมักเกิดจากฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน เลือกเนื้อฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมกับบริเวณที่ฉีด หรือแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญในการฉีดฟิลเลอร์ฉีดผิดชั้นและปริมาณมากจนเกินไป
ฉีดฟิลเลอร์ไปแล้วเป็นก้อน สามารถเกิดได้ 2 ลักษณะ คือจากการติดเชื้อ และไม่ใช่การติดเชื้อ ถ้ามีการติดเชื้อแนะนำรีบพบแพทย์ที่ทำการรักษา ส่วนกรณีที่ไม่ใช่การติดเชื้อมักเกิดจากฟิลเลอร์ไม่ได้มาตรฐาน เลือกเนื้อฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมกับบริเวณที่ฉีด หรือแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญในการฉีดฟิลเลอร์
ดังนั้นก่อนทำการฉีดฟิลเลอร์ควรเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐานและแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อผลลัพธ์ที่เนียนสวย เป็นธรรมชาติ และไม่เป็นก้อนนะคะ
อ่านเพิ่มเติม: ฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี
